นโยบาย chevron_right

สายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน สะท้อนต้นทุน ไม่กระทบประชาชน

คนกรุงเทพฯ ได้อะไร

  - ได้ทางเดินเท้าที่ปลอดภัยและมีทัศนียภาพที่ดีขึ้น ปลอดสายสื่อสารไร้ระเบียบ

 

รายละเอียด

สายต่างๆ ที่อยู่บนเสาไฟฟ้าแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลัก 

  1. สายไฟ อยู่ระดับสูงสุด มีการเรียงตัวค่อนข้างเป็นระเบียบ 

  2. สายสื่อสาร สายกลุ่มที่อยู่ระดับต่ำลงมา มักไม่มีระเบียบ บางจุดตกลงมาถึงพื้น และเคยปรากฏเป็นข่าวเกิดเหตุไฟไหม้หลายครั้ง 

 

แนวทางการจัดการสายสื่อสารที่ผ่านมา

  1. การมัดรวบและรื้อสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานทิ้ง และนำสายที่เหลือที่ยังใช้งานอยู่มามัดรวมกัน

  2. ติดตั้งท่อร้อยสายไมโครดักท์ (Micro Duct) แบบแขวน กฟน. ร้อยสายสื่อสารชนิดไมโครดักท์แบบแขวน ซึ่งสามารถรองรับสายใยแก้ว (fiber optic) 672 คอล์ ซึ่งเพียงพอกับสายสื่อสารปัจจุบันที่มีอยู่ 168 คอล์ โดยนำร่องที่ถนนราชวิถี 730 เมตร และมีแผนจะขยายรวม 15 กม. [1] 

  3. การนำสายลงดิน โดยนำลงในระดับที่ไม่ลึกเท่าสายไฟฟ้า โดย 

  3.1 NT (TOT) ได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง 

  3.2 กรุงเทพฯ โดย บจก. กรุงเทพธนาคม (KT) มีแผนดำเนินการวางระบบท่อสายสื่อสาร 2,450 กม. [2] ปัจจุบันทางกรุงเทพธนาคมได้มีการดำเนินการก่อสร้างและทดสอบระบบเป็นระยะทาง 7.252 กม. [3] ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการ [4] แต่มีปัญหาหลายส่วน เช่น ติดขัดด้านงบประมาณ [5] เรื่องต้นทุน เรื่องการผูกขาดสิทธิ ส่งผลให้การดำเนินการล่าช้า

 

ดังนั้น กทม.จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินที่ไม่ซ้ำซ้อนกับระบบเดิม และให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนสายเก่าและสายที่ไม่ได้ใช้งานที่แขวนอยู่บนเสาไฟฟ้า พร้อมกับพัฒนาแนวทางการนำสายสื่อสารลงดินอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ ภูมิทัศน์ที่สวยงามให้กับเมือง โดย

  1. สนับสนุนให้คิดค่าบริการเช่าท่อร้อยสายใต้ดินในราคาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายตกอยู่กับผู้ประกอบการมากเกินควร ไม่เกิดการผูกขาด มีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน เพื่อให้ไม่ส่งผลต่อค่าบริการระบบโทรคมนาคมของประชาชน

  2. กำหนดจุดเชื่อมต่อกับผิวดิน (riser) ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการประชาชน และป้องกันการสร้างจุดไรเซอร์ที่ไม่ตรงกับลักษณะการใช้งาน

  3. หารือร่วมกับ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทุกภาคส่วนในการลดต้นทุน ทั้งต้นทุนการบริหารและต้นทุกการจัดการสายสื่อสายลงท่อร้อยสายใต้ดิน เช่น การนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO) มาช่วยในการอุดหนุนค่าบริการ และกทม.สนับสนุนในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตและค่าธรรมเนียม

  4. สำหรับสายสื่อสารในถนนสายรองที่ไม่สามารถนำลงดินได้ เพราะอาจไม่มีท่อร้อยสายใต้ดินรองรับ กทม.จะผลักดันการดำเนินการร่วมกับ กฟน.เพื่อรวมสายสื่อสารทุกเส้นบนเสาไฟฟ้าเข้าไว้ด้วยกัน โดยจะให้ผู้ประกอบการร่วมกันออกแบบสายสื่อสารไฟเบอร์ออพติกร่วมแบบ Micro Fiber Sharing ให้เพียงพอต่อการรองรับการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต พร้อมกับกำหนดกรอบเกี่ยวกับการบริการและการบำรุงรักษาร่วมกัน ส่วนสายสื่อสารเดิมจะมีการขอความร่วมมือผู้ให้บริการในการสำรวจและรื้อถอนออก

 

*อัพเดตวันที่ 10 มีนาคม 2565

 

หากมีข้อเสนอแนะ (คลิก)