คนกรุงเทพฯ ได้อะไร

  - ลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.

  - แก้ปัญหาความจนประจำเดือน (Period Poverty) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขอนามัยของผู้มีประจำเดือน

 

รายละเอียด

ผ้าอนามัยคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน ในแต่ละเดือนผู้มีประจำเดือนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยอยู่ที่ราว 80-150 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นจำนวนผ้าอนามัยประมาณ 20 แผ่นต่อเดือน ภาระในการจัดหาผ้าอนามัยจำนวนนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน หรือ Period Poverty ขึ้นได้

Period poverty หมายถึง ความไม่สามารถในการเข้าถึงผ้าอนามัย เช่น ไม่สามารถซื้อได้ เข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อและมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับ period poverty หลายชิ้นสะท้อนว่า การขาดแคลนผ้าอนามัยส่งผลต่อการขาดเรียนหรือขาดงานด้วย ด้านผลการสำรวจของ BMC Women’s Health ที่ทำการศึกษากับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา period poverty มีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางจนถึงรุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยประสบปัญหาเลย

เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัวและลดความเสี่ยงของปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา กทม. จะนำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. 

โดยจะจัดจุดจัดวางในห้องน้ำของโรงเรียนหรือไว้ที่ห้องพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกและสอดคล้องกับความจำเป็น โดยจะประเมินประสิทธิภาพถึงวิธีการแจกและตัวเลือกผ้าอนามัยที่ตอบสนองต่อผู้ใช้งาน ก่อนจะพิจารณาขยายผลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้มีประจำเดือนต่อไป

 

*อัพเดตล่าสุดวันที่ 11 เมษายน 2565

พัฒนาตามข้อเสนอแนะของประชาชน

 

หากมีข้อเสนอแนะ (คลิก)