นโยบาย chevron_right

ส่งเสริมสิทธิ และความปลอดภัยของเด็ก กทม.

คนกรุงเทพได้อะไร

  • เด็กทุกคนในกรุงเทพมหานครได้รับการคุ้มครอง พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วม
  • ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป มีความไว้วางใจและมั่นใจในความปลอดภัยของบุตรหลานซึ่งอยู่ในการดูแลของสถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมทั้งสถานบริการอื่นในสังกัด กทม.มากขึ้น
  • หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวกับเด็ก มีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งจะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่จากการดำเนินการโดยไม่รู้หลักปฏิบัติ และยกระดับ กทม.สู่มาตรฐานเรื่องเด็กในระดับนานาชาติ
     

รายละเอียด

สถานการณ์ด้านสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็ก เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยจากข้อมูลทางสถิติที่แสดงให้เห็นว่าเด็กถูกกระทำความรุนแรงและการล่วงละเมิดเพิ่มมากขึ้นทั้งในและนอกโรงเรียน โดยความรุนแรงภายนอกโรงเรียนนั้น จากข้อมูลรายงานช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ - ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยที่สำคัญ พ.ศ. 2562 (MICS 6) พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเพื่อการอบรมสั่งสอนถึงร้อยละ 58 จากค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ นอกจากนี้จากสถานการณ์ที่เด็กแสดงความคิดเห็นทางสังคมมากขึ้น ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดและการใช้ความรุนแรงเพื่อยุติการแสดงความคิดเห็น สำหรับในสถานศึกษานั้นพบสถิติการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดโดยการทำโทษที่รุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตรวจวินัยตามมาตรฐานเดิมในอดีต เช่น เรื่องเครื่องแต่งกาย ทรงผม ลักษณะการแสดงออก นอกจากนี้ยังพบกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพมหานครจึงร่วมกับองค์กรภาคี 11 องค์กร กำหนดแผนการดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กทุกคนในกรุงเทพมหานคร จะได้รับการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิเด็ก อย่างเท่าเทียมกัน โดย

แผนระยะสั้น กทม. จะขับเคลื่อนสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็ก โดยนำร่องในโรงเรียนสังกัด กทม. 9 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 3 แห่ง 

แผนระยะยาว

  1. สร้างคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิเด็กเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัด กทม.
  2. สร้างระบบและกลไกที่เอื้อให้บุคลากรสามารถทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็ก
  3. สร้างระบบและกลไกให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ต่อทุกนโยบายและทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเด็กและเยาวชน
  4. จัดตั้งและเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองเด็ก
  5. กำหนดตัวชี้วัดด้านสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก และมีการติดตามพร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองเด็ก และพัฒนาแผนป้องกันลดความเสี่ยงเป็นประจำทุกปี
  6. หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งจะมีนโยบายคุ้มครองเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง จากเจ้าหน้าที่ของ กทม. ทุกคน
  7. มีระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนการดำเนินการ และจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก กทม.
     

*อัพเดตล่าสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

หากมีข้อเสนอแนะ (คลิก)