นโยบาย chevron_right

ดูแลนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา และป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบ

คนกรุงเทพฯ ได้อะไร

1.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีระบบป้องกันนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาและระบบดูแลหากนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา

2.เยาวชนมีทางเลือกทางการศึกษามากขึ้น ทั้งตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรทักษะ เพื่อประกอบอาชีพ

 

รายละเอียด

หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บรรเทาลง กรุงเทพมหานครทราบถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจต่อประชาชนกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษาได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. สำรวจนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่านักเรียนที่ขาดเรียนนานและหลุดออกจากระบบการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่งมีจำนวน 2,582 คน 

กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายเกี่ยวกับนักเรียนที่หลุดออกนอกระบบดังนี้

1.ติดตามและดูแลนักเรียนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาทั้งหมด โดยคำนึงถึงนักเรียนและผู้ปกครองให้มีสิทธิในการตัดสินใจ ดังนี้

1.1 หากนักเรียนต้องการกลับมาเรียนยังโรงเรียนเดิม กรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้กลับเข้าเรียนโดยเบื้องต้นจะเร่งรัด นโยบาย “เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม” ซึ่งเป็นนโยบายที่ประกาศไปแล้ว เพื่อบรรเทาภาระผู้ปกครอง 

1.2 พัฒนาเครื่องมือการเรียนการสอนแบบ Streaming (สตรีมมิ่ง) ออนไลน์ โดยให้สำนักการศึกษาขอความอนุเคราะห์ครูวิชาต่าง ๆ มาสอน ซึ่งเป็นการตามหลักสูตรเหมือนในห้องเรียนตามโรงเรียน สังกัด กทม. แบ่งตามหัวข้อต่างๆ จากนั้นบันทึกวิดีทัศน์เผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชัน ที่จะทำให้นักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาสามารถเรียนรู้วิชาตามหลักสูตรในเวลาที่สะดวก ได้และมีการสอบและวัดผลผ่านระบบออนไลน์ ตามเวลาที่นักเรียนที่หลุดออกนอกระบบคิดว่ามีความพร้อมที่จะสอบ หรือการให้สอบเมื่อเรียนออนไลน์ ตามเกณฑ์หลักสูตรเรียบร้อยแล้ว

และเพื่อไม่ให้เป็นภาระคุณครู ไม่ควรให้แต่ละโรงเรียนจัดทำวิดีทัศน์เอง ด้านสำนักการศึกษาจะเป็นผู้เรียนเชิญครูบางท่านมาทำการสอนและจัดทำวิดีทัศน์เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันและลดภาระคุณครู ทั้งนี้วิดีทัศน์การสอนผ่านระบบการเรียนแบบ Streaming (สตรีมมิ่ง) อาจจะมีการปรับปรุง 1-2 ปีครั้ง

1.3 หากทั้งผู้ปกครองและนักเรียนตัดสินใจไม่กลับเข้าเรียน สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ติดตามนักเรียนกลุ่มนี้เป็นระยะ ในขณะเดียวกัน สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานครจะผลักดันนโยบาย “ฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน” เมื่อปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักการศึกษาจะเชิญชวนนักเรียนกลุ่มนี้มาเรียนทักษะอาชีพที่สอดคล้องตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ศูนย์ฝึกอาชีพ 17 แห่ง และโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่ง ของกรุงเทพมหานคร มีสถานะเป็นสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถสร้างหลักสูตรที่มีวุฒิการศึกษา หรือเทียบวุฒิการศึกษาได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการเพื่อนักเรียนกลุ่มนี้ให้ได้ทักษะอาชีพและมีโอกาสได้วุฒิการศึกษา 

2.ป้องกันนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบ

กรุงเทพมหานครพร้อมจะดำเนินงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการค้นหานักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบ เมื่อระบุตัวตนได้แล้วจะดำเนินการป้องกันผ่านการให้ทุนการศึกษา หรือ ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มเติม